
“โครงการวางแผนพลังงานชุมชน” ได้เริ่มดําเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยในปีแรกได้รับการช่วยเหลือด้านงบประมาณจากรัฐบาลเดนมาร์ก และต่อมาปีพ.ศ. 2550 ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากงบประมาณแผ่นดิน (ภายใต้สํานักงานปลัดกระทรวงพลังงาน) เพื่อดําเนินโครงการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยถือเป็นกลยุทธ์สําคัญของกระทรวงพลังงานในการพัฒนาและสร้างเสริมฐานความคิดด้านพลังงานด้วยบริบทของการมีส่วนร่วม การร่วมคิดและการปฏิบัติในลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นหรือชุมชนนั้นๆ โดยโครงการนี้มีความคาดหวังว่า ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะเป็นฐานคิดที่สำคัญในการต่อยอดขยายผลสู่การยอมรับและสนับสนุน การดําเนินนโยบายมหภาคของกระทรวงพลังงาน ซึ่งสามารถตอบโจทย์เป้าประสงค์ได้หลายมิติ โดยสรุปได้ดังนี้
- มิติของการพัฒนาและสร้างเสริมฐานความคิดด้านพลังงานด้วยบริบทเฉพาะของท้องถิ่นหรือชุมชนนั้นๆ
- มิติของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
- มิติของการบูรณาการแนวระนาบซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับกิจกรรมอื่นๆ ที่ดําเนินการโดยหน่วยงานอื่น หรือแผนด้านต่างๆ ของชุมชนได้เป็นอย่างดี
- มิติของการบูรณาการแนวดิ่งซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาหลักของชาติและแผนพลังงานของประเทศ
- มิติของการส่งผ่านและยอมรับนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 5 มิติดังกล่าว เป็นปัจจัยเอื้อที่ส่งผลให้การพัฒนาพลังงานส่วนภูมิภาคเกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและจะส่งผลต่อเนื่องถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาพลังงานของประเทศอีกด้วย ซึ่งการพัฒนาพลังงานส่วนภูมิภาคผ่านโครงการวางแผนพลังงานชุมชนนั้นอาจเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่
- การดําเนินงานในลักษณะของกิจกรรมในโครงการวางแผนพลังงานชุมชน (กระบวนการ 10 ขั้นตอน)
- การขยายผลของแผนพลังงานชุมชนสู่การดําเนินโครงการด้านพลังงานอื่นๆ
- การต่อยอดจากชุมชนที่เข้าร่วมหรือเคยเข้าร่วมโครงการวางแผนพลังงานชุมชน
- การต่อยอดจากฐานความคิดของบุคลากรที่เป็นเครือข่ายเข้าร่วมโครงการวางแผนพลังงานชุมชน สู่การพัฒนาโครงการพัฒนาพลังงานส่วนภูมิภาคในรูปแบบอื่นหรือชุมชนอื่น ไม่ว่าจะเป็น อส.พน. (อาสาสมัครพลังงาน) หรือ วิทยากรตัวคูณ
- การยอมรับของประชาชน/ชุมชน ต่อการพัฒนาโครงการด้านพลังงานในส่วนภูมิภาค และรวมถึงการสื่อสารเพื่อขยายเครือข่ายสู่ประชาชน/ชุมชนอื่นๆ กรณีนี้จัดว่าเป็นเป้าประสงค์ที่สําคัญซึ่งสอดคล้องกับการตอบโจทย์ ในมิติของการส่งผ่านและยอมรับนโยบายพลังงานสู”การปฏิบัติจริงในพื้นที่
ความเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
โครงการวางแผนพลังงานชุมชนได้เริ่มดําเนินการตั้งแต่ช่วงปลายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545/2549) ซึ่งเป็นแผนที่ เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน และทุกขั้นตอนเป็นแผนจากล่างขึ้นบน โดยได้กําหนดวิสัยทัศน์เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศร่วมกันโดยยึดหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550/2554) ก็ยังคงอัญเชิญปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวปฏิบัติควบคู่ไปกับการพัฒนาแบบบูรณาการที่มีคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดการสมดุล เป็นธรรมและยั่งยืนมุ่งสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน มีระบบภูมิคุ้มกันด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอพร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ และมุ่งเน้นการต่อยอดขยายผลโดยผลักดันให้มีการดําเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงของ แผนพัฒนาฯ ฉบับปัจจุบัน ซึ่งคือฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555/2559) โดยเน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานส่วนภูมิภาค อาทิ สอดคล้องกับประเด็นการพัฒนาที่ 3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และส่งเสริมบทบาทภาคประชาสังคมและธุรกิจเอกชนให้เป็นพลังร่วมในการพัฒนาสังคมไทย ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ 3) ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน สอดคล้องกับแนวทางที่ 5) สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพัฒนาพลังงานชีวภาพในระดับครัวเรือนและชุมชน และแนวทางที่ 7) ปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ความสอดคล้องระหว่างโครงการวางแผนพลังงานชุมชนกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้สะท้อนความจริงที่ว่า โครงการวางแผนพลังงานชุมชน เป็นการดําเนินพันธกิจในการบริหารจัดการพลังงาน ของประเทศที่มีการปฏิบัติเกิดขึ้นจริงในระดับชุมชนท้องถิ่น หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการนํานโยบายไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับจุลภาค โดยมุ่งเน้นการให้ความสําคัญกับระดับปฏิบัติ (ระดับล่าง) หรือ Bottom-up Approach และการพัฒนาโดยประชาชนมีส่วนร่วม และเป็นโครงการเชิงรุกที่สามารถปรับทัศนคติของคนและชุมชนได้ จึงควรส่งเสริมผลักดัน “การวางแผนพลังงานชุมชน” ให้ขยายวงกว้างออกไปมากที่สุด พร้อมทั้งเน้นคุณภาพ การดําเนินงานในการวางแผนพลังงานชุมชน
ผลการดําเนินงานเชิงประจักษ์
การวางแผนพลังงานที่เกิดจากระดับชุมชนท้องถิ่น เช่น เทศบาลตําบล ชุมชนเล็กๆ ได้ก่อให้เกิดพัฒนาการ ในการเรียนรู้ด้านพลังงานของชุมชนควบคู่ไปกับการปลูกฝังและปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคคลให้ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและเห็นความเป็นไปของสถานการณ์พลังงานในบริบทที่เกี่ยวข้อง เกิดความเชื่อมโยงของแผนพลังงานระดับต่างๆ
กระบวนการในการวางแผนพลังงานระดับท้องถิ่นทําให้ชุมชนคิดแก้ปัญหาจากระดับใกล้ตัวโดยการใช้เทคโนโลยีทางเลือกด้านพลังงานและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ชุมชนมีโครงการริเริ่มให้กลุ่ม บ้าน วัด และโรงเรียนตัวอย่างในการประหยัดไฟฟ้า ปรับปรุงพฤติกรรมการบริ โภคพลังงานให้มีความรับผิดชอบ และมีประสิทธิภาพ เช่น ส่งเสริมการนําเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง/เตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูงไปใช้ในชุมชน ให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดจํานวนการตัดต้นไม้สําหรับทําถ่าน และการที่วิทยากรตัวคูณในชุมชนได้ช่วยผลักดันให้มี การใช้เทคโนโลยีพื้นบ้านรวมถึงการพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมในพื้นที่ก็สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของประชาชนในการได้รับสินค้าพลังงานและวิธีการผลิตที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง เป็นไปตามกลไกการตลาด และการกระตุ้นอุปสงค์อุปทานด้านพลังงาน ทั้งนี้ การดําเนินโครงการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 – 2556 มี อปท. ที่เข้าร่วมทั้งหมด 1,095 อปท. (จากทั่วประเทศมี 7,608 อปท.) โดยคนในชุมชนเข้าร่วมอย่างน้อย 300 คน/ชุมชน (รวมอย่างน้อย 328,500 คน) ได้มีส่วนร่วมในการสํารวจข้อมูลพลังงาน ทั้งนี้ ผลการดําเนินงานภาพรวมของโครงการวางแผนพลังงานชุมชน เป็นดังนี้
- มีอาสาสมัครพลังงานชุมชน 5,952 คนทั่วประเทศ
- สร้างอาชีพด้านพลังงานจํานวน 18 กลุ่มอาชีพ จํานวน 93 แห่ง
- พัฒนาเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงานประจําชุมชน 10 ด้าน จํานวน 258 แห่ง
- แผนพลังงานชุมชนได้รับการบรรจุในแผนพัฒนา อปท. กว่าร้อยละ 77 (แผนพลังงานประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงานทดแทน ด้านอนุรักษ์พลังงาน ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านพลังงานในชุมชน ด้านการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดลhอม และด้านการบูรณาการกับมิติอื่นๆ ในชุมชน)
- การจัดกิจกรรมตลาดนัดพลังงานชุมชนทั่วทั้ง 75 จังหวัด มีผู้เข้าร่วมกว่า 74,000 คน และชุมชนสามารถจําหน่ายสินค้าได้เป็นมูลค่าประมาณปีละ 1,200,000 บาท
- ชุมชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ประมาณ 2,000 บาท/ปี/ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 7 ของค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน หรือ ประหยัดพลังงานได้เฉลี่ย 164 toe/ปี/ครัวเรือน (ประเมินโดยการสํารวจบัญชีพลังงานครัวเรือน 152 ชุมชนที่เข้าร่วม ชุมชนละ 50 ครัวเรือน)
- มีบ่อแก๊สชีวภาพชุมชน 1,946 บ่อใน 56 จังหวัดนําร่อง สามารถทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) เฉลี่ยกว่าร้อยละ 50 หรือประมาณ 1,200 บาท/ปี/ครัวเรือน
- สร้างชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้โดยสามารถบูรณาการงบประมาณและเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ สําหรับการพัฒนาชุมชนด้านพลังงานได้มากขึ้น
การปรับวิธีการดําเนินงานโครงการวางแผนพลังงานชุมชน
จากการสรุปบทเรียนและวิเคราะห์พัฒนาการของโครงการวางแผนพลังงานชุมชนในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า การปรับปรุงเฉพาะกระบวนการวางแผนพลังงานชุมชนนั้นอาจไม่มีแรงกระตุ้นมากพอให้เกิดการสร้างผลงานเชิงประจักษ์ในรูปแบบของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชน ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 สํานักงานปลัดกระทรวงพลังงานจึงได้นําร่องดําเนินการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน (36 แห่ง) เพื่อเป็นต้นแบบ (Model) ที่จับต้องได้ โดยสาธิตให้เห็นถึง “ความเป็นไปได้” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอาชีพจากโครงการวางแผนพลังงานชุมชนในระดับที่ชุมชนสามารถทําได้จริง รวมถึงนําร่องดําเนินการปรับวิธีการดําเนินงานบางส่วน สําหรับชุมชนในพื้นที่ศักยภาพผลิตพลังงาน (36 แห่ง) เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พลังงานที่ตอบโจทย์อย่างชัดเจนและรวดเร็ว
